ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการศึกษา AI ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU) จึงร่วมกับ International Academy of CIO (IACIO) จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติประจำปี 2024 IACIO Annual Conference 2024 ภายใต้หัวข้อ “AI Strategic Transformation Principles and Practices for CIOs” เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านสารสนเทศจากทั่วโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิธีการใช้งาน AI อันเป็นนวัตกรรมเพื่อผลักดันธุรกิจให้มีความยั่งยืนและเติบโตอย่างรวดเร็ว
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ การเงิน การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง การประชุมดังกล่าวจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยในงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้นำองค์กรด้านสารสนเทศจากทั่วโลกมาร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนการรับมือกับความท้าทายและการใช้เทคโนโลยี AI ในภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาล
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวต่ออีกว่าในด้านการศึกษา ม.ธรรมศาสตร์มีนโยบายการขับเคลื่อนการใช้ AI เพื่อยกระดับสถาบัน โดยมีการปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน (Personalized Learning) ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่ง AI จะช่วยจัดการกระบวนการบริหารจัดการ ในการจัดตาราง การจัดทรัพยากร และการลงทะเบียนนักศึกษา ช่วยลดภาระงานซ้ำซ้อนและเกิดการประเมินผลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในภาพรวม AI ยังช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมให้กับประชาชนหลายกลุ่มได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่มีการใช้เอไอในการขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยคาดว่าความต้องการด้านเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 เท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2570 – 2580 ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับ AI จะสูงถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจท้องถิ่นในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่ม
รศ.ดร.จิรพล สังโพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และการดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดการประชุมเพื่อร่างนโยบายการใช้ AI ในการเรียนการสอน โดยได้พัฒนานโยบายดังกล่าวให้ครอบคลุมแนวทางการใช้งาน AI สำหรับนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ โดยสาระสำคัญของนโยบายคือการอนุญาตให้ใช้งาน AI ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น การใช้ AI ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลหรือการเรียนรู้ต้องอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ และต้องมีความโปร่งใส รวมถึงการเปิดเผยการใช้งาน AI เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ได้ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และเคารพสิทธิของผู้เกี่ยวข้องและหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้การใช้ AI เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม
ศ.ดร.โทชิโอะ โอบิ จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวอภิปรายพิเศษในหัวข้อ “การจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัล” ว่า การจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 19 ในปี 2024 ประเทศไทยได้อันดับที่ 19 จาก 20 อันดับแรกของประเทศที่มีรัฐบาลดิจิทัลโดดเด่น ซึ่งผลการจัดอันดับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านการพัฒนาดิจิทัล โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนและการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตจะมีการยกระดับรัฐบาลดิจิทัลสู่ รัฐบาล AI เพื่อนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการคาดการณ์และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการพัฒนาระบบบริการประชาชนให้ตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
ด้าน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีในเชิงปฏิบัติ ซึ่งการร่วมมือในการประชุมหารือ IACIO ในครั้งนี้จะช่วยกำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนา AI ของประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสในการประสานพลังร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดสรรทรัพยากร ทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ ที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการและความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล
ดร. ฌอง–ปิแอร์ อัฟเฟรต ประธานกรรมการ IACIO กล่าว ว่า ในฐานะที่ IACIO เป็นสมาคมของ CIO ระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารสนเทศจากทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้มุมมองของ CIO ในการปรับเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรในยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและซับซ้อน จนทำให้การบริหารจัดการองค์กรจำเป็นต้องอาศัยแนวทางใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้ CIO สามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“บทบาทของ CIO จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการสร้างกลยุทธ์ที่จะช่วยให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิผลสูงสุด การเตรียมความพร้อมด้านทักษะความรู้และการเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ IACIO เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับ CIO ทั่วโลก เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความยั่งยืนในการเติบโตในระยะยาว”
นอกจากนี้ การกำหนดบทบาทของกลุ่ม CIO (Chief Information Officer) ในโลกยุคใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะถูกนำเสนอในงานประชุมครั้งนี้ เรามีความตั้งใจที่จะเน้นย้ำถึงบทบาทที่เหมาะสมในการนำ AI มาใช้งานในองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในด้านการจัดการและการกำกับดูแลให้ AI ถูกใช้ในขอบเขตที่ชัดเจน มีความโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับตามหลักการที่เหมาะสม การใช้งาน AI ที่มีกำกับดูแลอย่างถูกต้องจะช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่า AI ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังสอดคล้องกับมาตรฐานด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
ดร.กำพล ศรธนะรัตน์ ที่ปรึกษาด้าน Digital transformation และเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “บทบาทของ CIO ในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจดิจิทัลในยุคสมัยใหม่” ว่า การนำ AI เข้าใช้ในองค์กรถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมี “ความตื่นรู้” และการเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบ เพราะหากองค์กรไม่ปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของ AI อาจเกิดสถานการณ์ที่เทคโนโลยี AI จะกลายเป็นตัวชะลอศักยภาพขององค์กรแทนที่จะช่วยพัฒนา
อย่างไรก็ดี องค์กรควรกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูล เนื่องจากการใช้ AI ส่วนบุคคล อาจเพิ่มความเสี่ยงในการั่วไหลของข้อมูลหากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ด้วยการหลีกเลี่ยงการป้อนข้อมูลสำคัญหรือข้อมูลที่มีความลับในระบบ AI ที่ไม่ผ่านการรับรองความปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือผลกระทบเชิงลบต่อองค์กรและผู้เกี่ยวข้อง